วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2551

ทำใจให้บริสุทธิ์

ทุกคนน่าจะเคยได้ยินหรือน่าจะเคยได้ออกปากพูดด้วยตัวเองว่า คนนั้นใจสกปรก คนนี้ใจสะอาด หรือบางทีว่า คนนั้นใจสูง คนนี้ใจต่ำ ใจสูงก็มีความหมายเดียวกับใจสะอาด ใจต่ำก็มีความหมายเดียวกับใจสกปรกนั่นเอง ตามภาษาหรือตามตัวหนังสือ ก็แยกออกได้เป็นคำสองคำหรือสองส่วน คือใจดำหนึ่งหรือส่วนหนึ่ง สูงหรือสะอาดคำหนึ่งหรือส่วนหนึ่ง ต่ำหรือสกปรกคำหนึ่งหรือส่วนหนึ่ง ภาษาหรือตัวหนังสือแบ่งออกเป็นสอง ความจริงก็แบ่งออกเป็นสองเหมือนกัน ใ

จอาจแยกออกจากความสะอาดหรือความสกปรกได้ เมื่อนำความสะอาดหรือความสกปรกออกจากใจ ก็เหลือแต่ใจแท้ๆ เหมือนแก้วน้ำใส่น้ำเปล่ากับแก้วใส่น้ำแดง ถ้าเอาน้ำเปล่ากับน้ำแดงออกเสีย ก็จะเหลือแต่แก้วเปล่า อันแก้วเปล่านั้นเมื่อเติมน้ำเช่น น้ำเขียวน้ำแดงหรือน้ำเปล่าก็ตามลงไปก็ย่อมปรากฏเป็นสีของน้ำ เช่นสีเขียวหรือสีแดง ถ้าใส่ไปที่ละเล็กละน้อย ก็จะค่อยๆ ปรากฏสีขึ้น เมื่อใส่อยู่ตลอดเวลา สีก็จะเพิ่มมากขึ้นทุกที ถ้าเทออกเสียบ้างสีก็จะลดลงไปทุกที ตามจำนวนที่เทน้ำสีออก เทออกหมดเมื่อไรก็จะเหลือแต่แก้วจริงๆ เมื่อนั้น ใ

จก็เช่นเดียวกัน ก็จริงใจนั้นบริสุทธิ์ผ่องใส กิเลสเข้าจับทำให้สกปรกไปตามกิเลส ปล่อยให้กิเลสจับมากเพียงไร ใจก็สกปรกขึ้นเพียงนั้น นำกิเลสออกเสียบ้าง ใจก็จะลดความสกปรกลงบ้าง ทำกิเลสออกจากใจมาก ใจก็ลดความสกปรกลงมาก นำกิเลสออกหมดสิ้นเชิงก็ใจบริสุทธิ์สิ้นเชิง เป็นสภาพใจที่แท้จริง มีความผ่องใส พอจะเปรียบได้กับความใสของแก้วที่ปราศจากน้ำ เมื่อใจกับความสกปรกหรือกิเลสเป็นคนละอย่าง ไม่ใช่อย่างเดียวชิ้นเดียวกัน ทุกคนจึงสามารถจะแยกใจของตนให้พ้นจากกิเลสได้ คือสามารถนำกิเลสออกจากใจได้ กิเลสเป็นเครื่องเศร้าหมองของใจ คือโลภ โกรธ หลง นั้นนำออกจากใจได้จริง นำออกมากน้อยเพียงใดก็ได้ทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยปัญญาเป็นสำคัญ ผู้มีปัญญา มีความเห็นชอบ เห็นถูก ย่อมเห็นว่ากิเลสเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมองจริง จึงไม่ควรปล่อยไว้

ในเมื่อไม่ต้องการมีใจเศร้าหมอง แต่ต้องการมีใจผ่องใส เป็นสุข โลภก็ตาม โกรธก็ตาม หลงก็ตาม ทำให้ใจเศร้าหมองทั้งสิ้น มีมากก็เศร้าหมองมาก มีน้อยก็เศร้าหมองน้อย ไม่มีเลยก็ไม่เศร้าหมองเลย ลองถามตนเองดูว่า ต้องการเป็นทุกข์เศร้าหมองหรือ ก็จะได้คำตอบแน่นอนว่า ไม่ต้องการเช่นนั้น แต่ต้องการเป็นสุข ผ่องใส ยิ่งเป็นสุขผ่องใสเท่าไรก็ยิ่งดี เป็นสุขผ่องใสตลอดเวลาก็ยิ่งเป็นที่ต้องการ เมื่อได้คำตอบ รู้ความต้องการของตนเช่นนี้ ก็ให้ยอมเชื่อว่าการจะทำใจให้เป็นสุขผ่องใสนั้น ไม่มีใครทำให้ใครได้ เจ้าตัวต้องทำเอง

วิธีทำคือเมื่อเกิดโลภ โกรธ หลงขึ้นเมื่อใด ให้พยายามมีสติรู้ให้เร็วที่สุด และใช้ปัญญายับยั้งเสียให้ทันท่วงที อย่าปล่อยให้ช้า เพราะจะเหมือนไฟไหม้บ้าน ยิ่งดับช้าก็ยิ่งดับยาก และเสียหายมากโดยไม่จำเป็น

: บุญเป็นหลักใหญ่ของโลก
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ไม่มีความคิดเห็น: