วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551

ฟุ้ง


อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน อารมณ์ไม่เป็นหนึ่ง พลุกพล่านไปสู่อารมณ์ต่างๆ ให้จับลมหายใจเข้าออก ให้เป็นฌานสมาบัติให้ได้ แล้วเอากำลังนั้นเกาะพระนิพพานแทน ก็จะตัดความฟุ้งซ่านนี้ได้

สำหรับตอนนี้ ก็อย่าลืมเรื่องภาพพระ คือพุทธานุสติของเรา ให้อยู่ควบกับลมหายใจเข้าออก กำหนดใจเบาๆ สบาย ๆ แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง จับภาพพระให้เป็นปกติ เมื่อสวดมนต์ทำวัตร ให้ตั้งใจว่า เราทำเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อานิสงส์ทั้งหมด เราต้องการไปพระนิพพานแห่งเดียว เอาความรู้สึกของเรา จับภาพพระเอาไว้ ปากเราก็สวดมนต์ทำหน้าที่ของเราไป ถึงเวลาทำการทำงานอื่นๆ ให้จับภาพพระอยู่กับเราตลอดเวลา การงานต่างๆ ก็จะทรงตัว ทำแล้วได้ผลละเอียดละออดี ตอนนี้ให้ค่อยๆ ถอนจิตออกมา และประคับประคองให้อยู่กับภาพพระเอาไว้ เพื่อจะได้ทำวัตรเช้าต่อไป ?

ถ้ารู้สึกว่ากำลังใจของเราไม่ทรงตัว มันฟุ้งซ่าน ดึงเข้ามาสู่อารมณ์ภาวนาได้ยาก ให้ใช้คาถาที่พระพุทธเจ้าท่านให้มา เป็นคาถาที่รวมใจของเราให้ทรงตัว ให้ภาวนาว่า อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตัง ใช้คำภาวนานี้แทนคำภาวนาทุกอย่าง อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตัง นี่เป็นคาถาที่สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้ามอบให้ ถ้าเราฟุ้งซ่าน รักษาอารมณ์ใจให้ทรงตัวไม่ได้ ก็นึกถึงคาถา อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตังนี้ ให้ใช้แทนคำภาวนาอื่น ๆ ชั่วขณะหนึ่ง อาจเป็นห้านาที สิบนาที หรือครึ่งชั่วโมง แต่จากที่เคยลองมา ไม่เคยเกินสามนาที กำลังใจที่ฟุ้งซ่านมันจะนิ่ง มันจะลงตัว ดังนั้น วันไหน ถ้ากำลังใจของเราฟุ้งซ่าน ไปรัก โลภ โกรธ หลง ตามปกติของมัน ไม่สามารถจะดึงเข้าหาคำภาวนาได้ ให้นึกขอบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้โปรดเมตตาสงเคราะห์ รวบ รวมกำลังใจของเรา ให้ทรงตัวโดยเร็ว แล้วภาวนาว่า อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตังสักครู่หนึ่ง พอกำลังใจทรงตัวแล้ว เราค่อยใช้คำภาวนาที่เราถนัดต่อไป

คาถานี้เป็นสิ่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานให้ ดังนั้น ถ้าเราใช้คาถานี้ ก็เท่ากับเราทรงพุทธานุสติอยู่ ขอให้นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นปกติเท่านั้น เรานับว่าโชคดี ที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมตตา คอยอนุเคราะห์สงเคราะห์อยู่ตลอดเวลา

กามฉันทะ “ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
พยาบาท ความผูกโกรธ อาฆาตแค้นผู้อื่นเขา”
ถีนมิททะ ความง่วงหงาวหาวนอนความขี้เกียจปฏิบัติจะได้อยู่กับเขาต่อไป
อุทัฐจะ ความฟุ้งซ่านอารมณ์ไม่ตั้งมั่น
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลการปฏิบัติ ลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลังเลสงสัยในครูบาอาจารย์ว่าจะมีความสามารถจริงหรือไม่ ? นั่นเป็นการดลใจของมาร เป็นบริวารของมาร

เราสามารถหลีกพ้นได้ง่ายที่สุด คืออยู่กับลมหายใจเข้า-ลมหายใจออกเท่านั้น หายใจเข้าก็นึกว่าพุทธ หายใจออกก็นึกว่าโธ กำหนดภาพพระให้แนบแน่นอยู่ในใจ ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้า ไหลตามลมหายใจออก เข้าไปเล็กลง ออกมาใหญ่ขึ้น เข้าไปเล็กลง ๆ ออกมาใหญ่ขึ้นใหญ่ขึ้น กำหนดใจให้นิ่งอยู่อย่างนี้ บริวารของมารจะทำอันตรายเราไม่ได้ เนื่องเพราะว่าจิตของเราอยู่เฉพาะหน้า ไม่ได้ส่งออก ไม่ได้ปรุงแต่งไปในอารมณ์อื่น ๆ มารทั้งหลาย ที่เขาขัดขวางเรา เพราะไม่ต้องการให้เราหลุดพ้น หน้าที่ของเขาก็คือสร้างความลำบากนานับประการให้แก่เรา ให้เราต่อสู้ ให้เราฟันฝ่า เพื่อบารมีของเราได้เข้มแข็งขึ้น ได้มั่นคงขึ้น กำลังจะได้สูงขึ้น เพื่อที่จะหลุดพ้นจากกิเลสได้ง่าย

จับภาพพระของเราให้สว่างไสวเอาไว้ กำหนดใจแผ่เมตตาให้เป็นปกติ เมตตาต่อคน เมตตาต่อสัตว์ อย่าให้มีประมาณ อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง อย่าไปดูว่าคนนี้สวยเราเมตตา คนนี้หล่อเราเมตตา สัตว์ตัวนี้สวยเราเมตตา สัตว์ต้วนี้ไม่สวยเราไม่เมตตา อย่างนั้นใช้ไม่ได้ กำลังใจของเราต้องเป็นอัปปมัญญา คือหาประมาณไม่ได้ ตั้งเจตนาไว้ว่าเราจะสงเคราะห์คนและสัตว์ทั้งหมดให้มีความสุขเสมอหน้ากัน เวลาออกทำการทำงานทำหน้าที่ของเรา ฆารวาสทำการทำงานก็ดี กำหนดใจให้สบาย ให้สดชื่น ให้แจ่มใส ให้เห็นว่าคนรอบข้างของเราคือเพื่อน ร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ถ้าเขามีสุขเรายินดีในความสุขของเขา เขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในชีวิตเรายินดีกับเขา ถ้าเขาอยู่ในความทุกข์เราพร้อมช่วยเหลือเขา ถ้าหากว่าความทุกข์นั้นเกินจากความสามารถของเรา เราก็ยังพร้อมที่จะช่วยเหลือ ถ้าหากว่ามีความสามารถถึงเมื่อไหร่ เราช่วยเมื่อนั้น เป็นพระเป็นเณร ถึงเวลาออกบิณฑบาตร กำหนดใจให้ญาติโยมทั้งหลาย ไม่วาจะใส่บาตรก็ดี ไม่ใส่บาตรก็ดี ขอให้เขาเหล่านั้น มีแต่ความสุข ล่วงจากความทุกข์โดยทั่วหน้ากัน ให้เมตตาเป็นปกติ กรุณาเป็นปกติ มุฑิตาเป็นปกติ และวางกำลังใจให้อุเบกขาเป็นปกติ ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายต่อสิ่งทั้งปวงที่มากระทบ ตาเห็นรูป สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน จมูกได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้นได้รสสักแต่ว่าได้รส กายสัมผัสสักแต่ว่าสัมผัส ให้สติรู้เท่าทัน หยุดมันเอาไว้แค่นั้น อย่าให้เข้ามาทำอันตรายจิตใจของเราได้

ถ้าใจของเราอยู่กับพระ ใจของเราอยู่กับการภาวนา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะทำอันตรายเราไม่ได้ ดังนั้นทุกเวลาที่สติ สมาธิทรงตัว พยายามเกาะภาพพระให้เป็นปกติ เกาะลมหายใจเข้าออกให้เป็นปกติ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ หน้าที่การงานของเราให้คิดว่าวันนี้เป็นวันสุดท้าย เรามีแค่วั้นนี้วันเดียว หรือว่าเรามีแค่ลมหายใจเข้าออกชุดเดียวเท่านั้น หายใจเข้าถ้าไม่หายใจออกอาจจะตายไปเลย หายใจออกถ้าไม่หายใจเข้าอาจจะตายไปเลยดังนั้นถ้าเวลาเรามีน้อยจนขณะนี้ เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด หน้าที่การงานอะไรที่เรารับผิดชอบ ทำเหมือนกับว่ามันเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต ทำอย่างทุ่มเท ทำให้ดีที่สุด เพื่อที่ถึงเวลาแล้วเราจะได้จากไปอย่างสง่างามที่สุด

เห็นทุกอย่างให้ไม่เที่ยง เห็นทุกอย่างให้เป็นทุกข์ เห็นทุกอย่างว่าไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา โดยเฉพาะอารมณ์กระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องระมัดระวังให้จงหนัก สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ต้องหยุดมันไว้ให้ทัน ให้มันอยู่แค่ตรงที่สัมผัสนั้น อย่าให้มันเข้ามาในใจ พอมันเข้ามาในใจ จิตสังขารก็เริ่มนึกคิดปรุงแต่ง ชอบหรือไม่ชอบเป็นโทษทั้งสิ้น ชอบเป็นราคะ ไม่ชอบเป็นโทสะ ทันทีที่เราปรุงแต่ง ราคะ โทสะ โมหะ มันจะเจริญงอกงามทันที ต้องระวังมันไว้ให้ทัน หยุดมันไว้ให้ทัน

ถ้าสติของเรา อยู่กับลมหายใจเข้าออก สติจะแหลมคม ปัญญาจะกระจ่าง จะสามารถรู้เท่าทัน และหยุดมันเอาไว้ได้ ดังนั้น เราทิ้งลมหายใจเข้าออกไม่ได้ ไม่ว่าการปฏิบัติในระดับไหนก็ตาม ลมหายใจสำคัญที่สุด ตามมาด้วยเครื่องหล่อเลี้ยง คือเมตตาพรหมวิหารทั้ง ๔ ข้อ และการพิจารณาให้เห็น สภาพความเป็นจริงของร่างกาย โดยเฉพาะจุดสุดท้าย ให้ทุกคนส่งกำลังใจเกาะพระนิพพานเอาไว้ เกาะพระนิพพานตามกำลังของมโนมยิทธิก็ดี ตามกำลังของอภิญญาสมาบัติก็ดี หรือกำหนดภาพพระขึ้นตรงหน้า ตั้งใจว่านั่นเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่เฉพาะพระนิพพานเท่านั้น เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน ให้ตั้งใจรู้อยู่เสมอว่าเราต้องตาย ตายเมื่อไหร่ เราต้องไปพระนิพพานให้ได้ ไม่อย่างนั้นทุกข์โทษเวรภัยต่าง ๆ ที่เราทำสร้างเอาไว้ในอดีต มันจะลงโทษเรา ให้ตกนรก ลำบากอย่างไม่รู้จบ แทบจะไม่เห็นว่ามันจะสิ้นสุดลงตรงไหน จะต้องเกิดเป็นเปรต อดอยากหิวโหย อยู่ในระยะเวลาอันเนิ่นนานเหลือเกิน จะต้องเกิดเป็นอสุรกายหลบ ๆ ซ่อน ๆ หากินไม่เต็มปากเต็มท้อง จะต้องเป็นสัตว์เดรัจฉาน ลำบากด้วยการหากินไม่ได้อย่างใจ ปรารถนาอย่างหนึ่งอาจจะได้อย่างหนึ่ง ตกอยู่ในภัยอันตรายตลอดเวลา

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จะต้องพิจารณาให้เห็น ถ้าเราไปนิพพานไม่ได้ เราต้องพบกับมันแน่ ๆ ดังนั้น มีเวลาว่างเมื่อไหร่ ส่งกำลังใจเกาะนิพพานไว้ให้เป็นปกติ ตั้งใจแผ่เมตตา เห็นหมู หมา กา ไก่ ก็ดี เห็นคนก็ดี ให้มีจิตประกอบไปด้วย เมตตาพรหมวิหารอยู่เสมอ เห็นเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น

การปฏิบัติของเรา จะโดนทดสอบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะสิ่งที่กระทบแล้ว ให้เกิดรักเกิดชอบใจ สิ่งที่กระทบแล้ว ให้เกิดโทสะจริตขึ้นมา ต้องดูต้องรู้เท่าทันมัน ถ้าเราเห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้ เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายคนอื่น ตัวราคะกับโลภะก็กำเริบไม่ได้ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่สลายตายพังไปหมด ไม่มีสิ่งใดทรงตัว ยึดถือมั่นหมายไปก็ทุกข์ มีกายหนึ่งก็ทุกข์ห้า มีสองกายก็ทุกข์สิบ มีสามกายก็ทุกข์สิบห้า มีแต่เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ

ที่มา : หลวงพี่เล็ก จากกรรมฐานสี่สิบwww.grathonbook.net/book/grammathan40

ไม่มีความคิดเห็น: