วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2551

รักษาจิต รักษาอย่างไร

การประคองบาตรที่มีน้ำมันเต็ม แม้ไม่ตั้งสติระมัดระวังให้เต็มที่
ย่อมมีโอกาสที่น้ำมันจะหกออกนอกบาตร ทำความสกปรกเลอะเทอะให้เป็นอันมากฉันใด
การไม่รักษาจิตให้ดี กิเลสย่อมทำความเสียหายให้อย่างยิ่ง ฉันนั้น

ท่านจึงสอนให้รักษาจิตเหมือนคนประคองบาตรที่เต็มไปด้วยน้ำมัน
นึกถึงความจริงเวลามีน้ำมันหกเลอะเทอะเปรอะเปื้อนเนื้อตัวเสื้อผ้าโดยเฉพาะ
ในขณะที่เนื้อตัวควรสะอาดเรียบร้อย ที่ไม่ควรให้ความสกปรกจนดูไม่ได้ปรากฏแก่สายตาผู้คนทั้งหลาย
จะรู้สึกอึดอัดอับอายเพียงใด การมีกิเลสล้นออกนอกจิตใจให้ปรากฏแก่ผู้คนทั่วไป
ยิ่งน่าอับอายกว่ามากมายนัก

การรักษาจิต คือการตามดูให้รู้ว่าความคิดที่เกิดขึ้นเป็นความคิดที่ดีหรือที่ร้ายอย่างไร
เมื่อรู้แล้วให้หยุดความคิดที่ร้ายให้ได้โดยเร็วที่สุด
อย่าหาข้อแก้ตัวให้ความคิดเช่นนั้นเป็นอันขาด เพราะจะมีโทษสถานเดียว
ไม่มีคุณเลยแม้แต่น้อย ความคิดนั้นสำคัญนัก สำคัญจริงๆ สำคัญยิ่งกว่าอะไรอื่นทั้งหมด

เพราะความคิดเป็นสภาพที่เกิดกับใจ จะเข้าใจแบบง่ายๆ ว่า ความคิดคือใจ
ก็น่าจะเป็นการเข้าใจง่ายๆ แบบคนทั่วไป เมื่อความคิดก็คือใจ
ความคิดจึงเป็นใหญ่เป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยความคิด
เช่นเดียวกับที่พระพุทธศาสนาสุภาษิตแสดงไว้ว่า
ใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ

ความคิดมีทั้งคุณมีทั้งโทษ แก่ผู้คิดเองก่อนแก่ผู้อื่น
ความรักความสามัคคีปรองดองเหมือนน้องพี่ในหมู่คณะหนึ่งหมู่คณะใด
ก็อาจเกิดได้เพราะความคิดของผู้อยู่ร่วมหมู่คณะนั้น ที่เต็มไปด้วยความรัก ความปรารถนาดีต่อกันและกัน
คิดให้อภัยกันเมื่อเกิดความผิดพลาดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น
ไม่ยกความผิดพลาดจะโดยบังเอิญหรือโดยตั้งใจของผู้ใดก็ตามมาคิดซ้ำเติมไปต่างๆ นานา
แต่คิดทุกอย่างที่จะอภัยให้แก่ความผิดพลาดนั้น ให้ใจไม่เพ่งโทษกัน
เช่นนี้กล่าวว่าความคิดไม่เป็นโทษ ความคิดเป็นคุณ จะให้ความสบายใจ
แก่ผู้คิดนั่นเองก่อนผู้อื่น ผู้ปรารถนาความสบายใจจึงพยายามคิดไปทุกแง่ทุกมุมที่จะ
ห้เกิดความสบายใจสมปรารถนา

: แสงส่องใจ ปีใหม่ ๒๕๓๙
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ไม่มีความคิดเห็น: